top of page

หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ไม่ได้แปลว่าปากท้องเราดีขึ้น

  • Writer: Monchai Wongkittikraiwan
    Monchai Wongkittikraiwan
  • Oct 21, 2024
  • 1 min read


ผมคิดว่าเรา (ในที่นี้คือประชาชนอย่างเราๆ) ต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องหนี้สินกันได้แล้วครับ

.

จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงรอบล่าสุด ตัวเลขหนี้ครัวเรือน 6 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ต่อขนาดเศรษฐกิจที่วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีและขยายตัวต่ำเพียง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

เมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องปิดบ้านปิดเมือง เศรษฐกิจเสียหาย ตอนนั้นหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เรากระโดดไปมากกว่า 95% ก่อนจะปรับลดลงมา เรื่องหนี้ครัวเรือนสูงนี้เราพูดกันมานานหลายปีแล้วนะครับ ถ้าเรามองแต่สัดส่วนหนี้ต่อขนาดเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อาจตีความง่ายๆ ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น ซึ่งแท้จริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราก็คงเห็นได้จากบรรยากาศหรือ Sentiment ของผู้บริโภคในขณะนี้ได้

.

ในเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินลงทุนต่างๆ ทั้งจากเอกชนกับภาครัฐก็ยังไม่ได้ลงมาถึงเศรษฐกิจที่แท้จริงและการจ้างงานสักเท่าไร แล้วปากท้องจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าตัวมูลค่าขนาดเศรษฐกิจไม่ได้โตมากนัก ฐานในการคำนวณหนี้ต่อ GDP ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมนัก

.

เราต้องไม่ลืมว่าโดยธรรมชาติของก้อนหนี้ ถ้าไม่ได้ปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเข้าไป หนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงอยู่แล้ว เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เขามีสถานะปกติ เขาก็จ่ายหนี้ค่ารถ ค่าบ้านและค่าบัตรเครดิตอย่างที่จ่าย หนี้ก็ต้องลดลง นั่นแสดงว่า ช่วงที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินนั้นฝืดแสนฝืด ทุกแบงก์ตั้งการ์ดสูง ไม่ปล่อยกู้ทั้งรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่สุ่มเสี่ยงในภาวะที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน เราจะเห็นได้จากข่าวการปฏิเสธสินเชื่อทั้งสินเชื่อรถ หรือกระทั่งสินเชื่อบ้านระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน

.

ทั้งที่คำขอบางรายการจากบางคน อาจเป็นความหวังสุดท้ายที่เขาจะได้นำเงินมาหมุน จ่ายหนี้ ดำเนินกิจการของตน หรือดูแลครอบครัวต่อไปได้

.

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในบรรยากาศที่ตึงเครียดและไม่เห็นความหวังกันสักเท่าไร

.

ล่าสุด ทางคุณ ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโรที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ก็เพิ่งให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา อ้างอิงจากฐานข้อมูลของสมาชิกเครดิตบูโรจำนวน 158 แห่งพบว่ามียอดสินชื่อ 13.63 ล้านล้านบาท เติบโตต่ำที่ 0.8% ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (NPL) ใกล้เคียง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.7% ซึ่งถือว่าสูง

.

ไม่ต้องแปลกใจที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของแบงก์ชาติและเครดิตบูโรจะต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากขนาดข้อมูลของทั้งสองแห่งแตกต่างกัน แบงก์ชาติกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทีเกี่ยวข้อง ขณะที่เครดิตบูโรถือเป็นแหล่งเก็บสมุดพกข้อมูลเครดิตของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก

.

สิ่งที่เป็นนัยสำคัญจากเครดิตบูโรก็คือชุดข้อมูลรายเดือนที่เห็นได้เร็วและชัดเจนกว่านี่ล่ะ โดยสิ่งที่สอดคล้องกันคือ สินเชื่อแทบไม่เติบโต ขณะที่หนี้เสียยังสูง

.

คุณสุรพลชี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ มาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังที่ต้องแก้ไขที่ทางแบงก์ชาติผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติจริงนั้น สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่ ก็จะเห็นได้จากตัวเลข 5 แสนบัญชีที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง แต่ได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขจริงๆ เพียง 5.3 พันบัญชีเท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก นั่นคือยังมีลูกหนี้อีกมากที่ลูบหน้าปะจมูก โยกเงินก้อนนั้นมาจ่ายก้อนนี้ เดือนนี้จ่ายค่าบ้านก่อน เดือนหน้าค่อยจ่ายค่ารถ เลี้ยงหนี้ไปเรื่อยๆ อยากจะลดภาระหรือรวมศูนย์หนี้ ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการอนุมัติ

.

สินเชื่อเติบโตต่ำ แก้หนี้คนเดือดร้อนยังไม่เข้าเป้า สถานการณ์แบบนี้สะท้อนภาวะที่เงินตึงตัวโดยแท้ พอๆ กับประชาชนที่ทำงานสายตัวแทบขาดแต่ยังหาเงินไม่พอชำระหนี้ ขอความช่วยเหลือจากแบงก์ ก็ไม่มีใครช่วย

.

สิ่งที่เป็นระเบิดเวลคือ หนี้กำลังจะเสีย (Special Mention Loan : SM) หรือหนี้ค้างจ่ายเงิน 60 วันแต่ยังไม่ถึง90 วัน ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามแก้ไขด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อสกัดไม่ให้หนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้เสีย ชวนมาพูดคุย เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ก้อนนี้อยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของหนี้ทั้งหมด คุณสุรพลเล่าว่าท้ายที่สุดก็มีสถาบันการเงินใส่รหัสไว้ในข้อมูลเครดิตของผู้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สุดท้ายพอจะขอสินเชื่อก็โดนปฏิเสธ ทั้งที่มีประสงค์ที่ดีที่จะจัดการหนี้ของตัวเอง แต่เมื่อต้องการเงินหมุนด้วยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับเสียโอกาสไป ตรงนี้คุณสุรพลเน้นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้พูดคุยให้ชัดและคำนึงผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติจริงให้ได้มากขึ้นคือสิ่งที่สำคัญ

.

นโยบายที่ดี ต้องมีกระบวนการที่ดีและผลลัพธ์ที่ดีด้วย

.

อ่านที่คุณสุรพลเขียน แล้วผมก็คิดตามเรื่องประโยชน์ของการมีอยู่ของข้อมูลเครดิต ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการก่อหนี้และชำระหนี้ของลูกหนี้ในระบบฐานข้อมูล ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สถาบันการเงินตัดสินใจในการพิจารณาสินเชื่อได้

.

ทีนี้ ถ้าจะบอกว่าข้อมูลของเครดิตบูโรทำให้คนเดือดร้อน ทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ ผมคิดว่าเป็นวิธีมองที่ยังไม่รอบด้านนัก จริงอยู่ที่แบงก์ดึงข้อมูลเครดิตมาพิจารณา แต่ต้องไม่ลืมว่าแบงก์ในประเทศนี้ ล้วนมีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีและฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้อย่างดี ใครที่เคยเบี้ยวหนี้ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติบางอย่างที่สะท้อนจากธุรกรรมที่ทำ ปัญญาประดิษฐ์ก็พอจะจับได้และส่งผลกับการปล่อยกู้อยู่ดี

.

การลบข้อมูลเครดิตออกจากระบบโดยไม่คำนึงถึงหลักปฏิบัติสากลนอกจากจะเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินแล้ว ยังไม่ได้การันตีด้วยว่าประชาชนจะเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น ครอบคลุมขึ้น หรือมีต้นทุนทางการเงินที่สมเหตุสมผลมากขึ้นด้วย

.

บทสรุปของโพสต์นี้ ไม่ได้ต้องการทำให้ผู้ที่กำลังประหวั่นพรั่นพรึงกับปัญหานี้สินของตัวเองเครียดมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็ไม่ได้จะปลอบใจให้เข้าใจผิดว่า ไม่เป็นไร ใครๆ ก็เบี้ยวหนี้กันได้แต่อย่างใด เพียงแต่อยากชักชวน BizKlasser ให้มาทำงบดุลหรือ Balance Sheet ของตนเองกัน กล้าเผชิญหน้ากับความจริงและยอมรับมันกันเถอะครับ

.

เป็นหนี้ ก็ต้องใช้หนี้ เพราะหนี้นั้นเราเองก็สร้างขึ้นมา ไม่ได้มีใครบังคับเลย

.

ลงรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าเราเป็นหนี้อยู่กี่รายการ จากแหล่งไหนบ้าง รายได้มีเท่าไหร่ ความสามารถในการจ่ายหนี้แต่ละเดือนเป็นเท่าไหร่ จากนั้นก็จัดการไปทีละขั้นจากสารพัดแนวทางที่มีอยู่หลากหลายได้เลย

.

จะหารายได้เพิ่ม จะปรับปรุงโครงสร้างที่ จะทำอะไรก็ทำ ดีกว่าอยู่เฉยๆ แน่นอนว่าต้องติดตามข่าวเศรษฐกิจต่อเนื่องด้วยนะครับ เพื่อประโยช์ของตัวเราเอง

.

สุดท้ายแล้วมันก็จะผ่านไปได้ (This shall too pass) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งคนที่ไม่หยุดแก้ปัญหา จะเจอกับทางออกที่ดีเสมอครับ : )

.

Commentaires


Contact Bizklass

Monchai   Wongkittikraiwan

yourbizklass@gmail.com

  • Line
  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube
  • TikTok
Send a message

Thanks for submitting!

© 2020 by Monchai Wongkittikraiwan

bottom of page